16 มกราคม 2558
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กรมชลประทาน และการประปานครหลวง (กปน.) เผยพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง มั่นใจสามารถบริหารจัดการน้ำดิบให้เพียงพอและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยแนะประชาชนควรใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อช่วยกันรักษาทรัพยากรน้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืน
นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ กปภ.เปิดเผยว่า ในช่วงที่ประเทศไทยประสบภัยแล้งหนักที่สุดคือ เดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี แต่ในภาวะปัจจุบันที่ฤดูกาลคลาดเคลื่อนทำให้เกิดผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำเค็มเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปา สำหรับพื้นที่ให้บริการของ กปภ. ขณะนี้เกิดปัญหาน้ำประปามีค่าความเค็มสูงขึ้นคือบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำบางปะกง ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และลุ่มแม่น้ำท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา (กปภ.สาขาฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง และ สาขาบางคล้า) จ.นครปฐม (กปภ.สาขาอ้อมน้อย) จ.สมุทรสาคร (กปภ.สาขาสมุทรสาคร) จ.สมุทรสงคราม (กปภ.สาขาสมุทรสงคราม) และ จ.ราชบุรี (กปภ.สาขาราชบุรี) สำหรับปี 2558 กปภ. คาดการณ์ว่ามีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา จำนวน 39 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี (กปภ.สาขาชลบุรี และสาขาพัทยา) จ.ฉะเชิงเทรา (กปภ.สาขาฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า สาขาบางปะกง และสาขาพนมสารคาม) จ.ปทุมธานี (กปภ.สาขาปทุมธานี และสาขาธัญบุรี) จ.นครราชสีมา (กปภ.สาขาพิมาย) จ.สุพรรณบุรี (กปภ.สาขาศรีประจันต์ และสาขาอู่ทอง) จ.สุราษฎร์ธานี (กปภ.สาขากาญจนดิษฐ์ สาขาเกาะพะงัน และสาขาเกาะสมุย) จ.นครศรีธรรมราช (กปภ.สาขาปากพนัง) จ.กระบี่ (กปภ.สาขากระบี่) จ.ชุมพร (กปภ.สาขาท่าแซะ) จ.ขอนแก่น (กปภ.สาขาชุมแพ สาขากระนวน สาขาหนองเรือ และสาขาเมืองพล)จ.ชัยภูมิ(กปภ.สาขาชัยภูมิ สาขาแก้งคร้อ และสาขาจัตุรัส) จ.ร้อยเอ็ด (กปภ.สาขาสุวรรณภูมิ) จ.มหาสารคาม (กปภ.สาขาพยัคฆภูมิพิสัย) จ.หนองบัวลำภู (กปภ.สาขาหนองบัวลำภู) จ.อำนาจเจริญ (กปภ.สาขาอำนาจเจริญ) จ.สุรินทร์ (กปภ.สาขาศีขรภูมิ) จ.อุบลราชธานี (กปภ.สาขาเดชอุดม) จ.บุรีรัมย์ (กปภ.สาขาสตึก)จ.เชียงใหม่ (กปภ.สาขาเชียงใหม่ สาขาสันกำแพง และสาขาแม่ริม) จ.สุโขทัย (กปภ.สาขาสวรรคโลก และสาขาศรีสัชนาลัย) จ.เพชรบูรณ์ (กปภ.สาขาหนองไผ่ และสาขาวิเชียรบุรี และ จ.นครสวรรค์ (สาขาท่าตะโก)
นางรัตนา กิจวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่าคุณภาพน้ำประปาที่ผลิตได้ยังคงสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และ กปภ.ยังจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนกำชับให้ กปภ. 234 สาขาทั่วประเทศ เข้มงวดมาตรการผลิตและการจ่ายน้ำประปาให้แก่ประชาชน ให้มีความพร้อมและเพียงพอต่อการใช้งานอยู่เสมอ นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2557 กปภ.แจกจ่ายน้ำประปา "ฟรี"เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กปภ. และนอกเขตพื้นที่บริการ รวมทั้งสิ้น 380,105,071ลิตร มูลค่า 6,870,129.28บาท ตลอดจนแจกน้ำดื่มบรรจุขวดตราสัญลักษณ์ กปภ. เพื่อร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล จำนวนทั้งสิ้น 674,816 ขวด มูลค่า 2,695,264 บาท