16 กุมภาพันธ์ 2554
![กปภ.เผยต้องลงทุน ๒ แสนล้านรองรับลูกค้าตลอด ๒๐ ปีข้างหน้า](/images/news/default-news.jpg)
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เผยผลการศึกษาความต้องการใช้น้ำสะอาดของประชาชนในพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศ คาดต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ทยอยลงทุนก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาและบริหารจัดการแหล่งน้ำดิบ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าถึงปี ๒๕๗๕
นายวิเศษ ชำนาญวงษ์ ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวว่า กปภ.เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีพันธกิจในการผลิตน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในส่วนภูมิภาค ตลอดระยะเวลา ๓๒ ปีที่ผ่านมา กปภ.ได้ตอบสนองนโยบายรัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมความเจริญให้แก่ชุมชนใน ๗๔ จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงระบบประปาและขยายเขตพื้นที่จ่ายน้ำไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสใช้น้ำประปาอย่างทั่วถึงและเพียงพอ อีกทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมอื่นๆ ให้สามารถรองรับความต้องการน้ำสะอาดของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ศูนย์บริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและวิเคราะห์ความจำเป็นในการลงทุนของ กปภ.ในช่วงเวลา ๒๐ ปีข้างหน้า ซึ่งผลการศึกษามีข้อสรุป ดังนี้
๑. ใน ๒๐ ปีข้างหน้า คือปี ๒๕๗๕ ในเขตพื้นที่ให้บริการของ กปภ.ทั่วประเทศจะมีความต้องการใช้น้ำสะอาดปีละ ๒,๒๘๐ ล้าน ลบ.ม. เพิ่มสูงกว่าความต้องการในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ปีละประมาณ ๙๗๕ ล้าน ลบ.ม.
๒. ในการรองรับความต้องการน้ำสะอาดที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณลงทุนรวมทั้งสิ้น ๒๐๑,๗๖๙ ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของการลงทุนก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาของ กปภ. ประกอบด้วยการลงทุนก่อสร้างแหล่งน้ำและการขนส่งน้ำดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปา การลงทุนก่อสร้างในกระบวนการผลิตน้ำประปา และการลงทุนก่อสร้างในระบบจ่ายน้ำประปา นอกจากนี้ ยังมีส่วนของการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำดิบของ กปภ. อันเป็นผลกระทบจากปริมาณน้ำดิบมีจำกัดและมีคุณภาพด้อยลง ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการเร่งด่วนช่วง ๕ ปีแรกตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ๒๕๕๙ ต้องใช้งบประมาณถึง ๔๑,๒๓๗ ล้านบาท
นายวิเศษ ชำนาญวงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำที่สูงขึ้นทุกปีนั้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนที่ต้องการความสะดวกในการใช้น้ำ ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าว กปภ.จะนำไปพิจารณาวางแผนยุทธศาสตร์และการหาแหล่งทุนสำหรับการขยายระบบผลิตและระบบท่อส่งน้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำดิบที่มีจำกัดอย่างรอบคอบให้สัมพันธ์กับปริมาณความต้องการที่จะต้องทำพร้อมๆ กันไปตลอดช่วง ๒๐ ปีข้างหน้า