02 กันยายน 2552
![กปภ. แจงกรณีซื้อน้ำขาดทุนปีละ 5 หมื่นล้าน](/images/news/default-news.jpg)
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ชี้แจงกรณีคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.) เตรียมร้องศาลปกครองกรณี กปภ. กับบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจัดซื้อน้ำประปาโครงการเอกชนร่วมลงทุนสมุทรสาคร-นครปฐม ด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
นายวิเศษ ชำนาญวงษ์ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนลงข่าวกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.) เตรียมร้องต่อศาลปกครองกรณี กปภ. กับบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจัดซื้อน้ำประปาโครงการเอกชนร่วมลงทุนสมุทรสาคร-นครปฐม ด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะนั้น กปภ. ขอเรียนชี้แจงดังนี้
1. โครงการเอกชนร่วมลงทุนสมุทรสาคร-นครปฐม เป็นโครงการเร่งด่วนที่ กปภ. ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ กปภ. เร่งสร้างระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำผิวดินเพื่อทดแทนการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ปริมณฑล กทม. ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤติการณ์แผ่นดินทรุดจากการใช้น้ำบาดาลมากเกินไป
2. ในด้านการลงทุน เนื่องจากการก่อสร้างระบบประปาขนาดใหญ่ และพัฒนาน้ำผิวดินจากแม่น้ำท่าจีนเพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำประปา ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 8,375 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน กปภ. จึงหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการลงทุนตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า โครงการนี้เป็นเรื่องที่เอกชนดำเนินกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจอย่างหนึ่งโดยจะต้องรับผิดชอบในผลกำไรหรือขาดทุนแต่โดยลำพัง กปภ. มิได้เข้าไปร่วมทุนหรือมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในผลกำไรหรือขาดทุนของกิจการนั้น และมิได้ให้สิทธิที่ กปภ.มีอยู่ตามกฎหมายแก่เอกชนแต่อย่างใด กรณีนี้จึงเป็นกิจการที่เอกชนดำเนินการเองโดยแท้ รวมทั้งน้ำดิบที่เอกชนนำมาใช้ผลิตน้ำประปาก็เป็นของที่เอกชนซื้อจากเจ้าของหรือผู้มีอำนาจครอบครองแหล่งน้ำดิบเอง ไม่มีการอนุญาต การให้สัมปทาน หรือการให้สิทธิเอกชนที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินของรัฐ และการจัดซื้อน้ำจากเอกชนที่ผลิตได้ก็เป็นเรื่องที่ กปภ. ทำสัญญาซื้อขายในทางแพ่งตามปกติของการประกอบธุรกิจ ดังนั้น การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจึงไม่เป็นการดำเนินการใน กิจการของรัฐ กรณีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
ในการนี้ กปภ. จึงทำสัญญาซื้อขายน้ำกับเอกชน โดยเอกชนเป็นผู้ผลิตน้ำประปาขายส่งให้แก่ กปภ. ในรูปแบบ BOO (Built-Own-Operate) คือ เอกชนลงทุนก่อสร้างระบบประปา (Built) เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน (Own) ผลิตน้ำประปา (Operate) และขายส่งให้แก่ กปภ. 30 ปี โดย กปภ.จำหน่ายน้ำประปาให้แก่ลูกค้าของ กปภ. ในอัตราเดียวกันกับที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั่วประเทศของ กปภ.
3. กปภ. ตระหนักอย่างยิ่งถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์แผ่นดินทรุดให้กลับคืนสู่สภาพสมดุล ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา และไม่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยยอมรับว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่าน เป็นโครงการที่ กปภ. ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจาก กปภ. ซื้อน้ำในอัตราเริ่มต้นที่ราคาลบ.ม.ละ 13.90 บาท โดยเอกชนสามารถปรับค่าน้ำได้ตามค่า CPI ทุกปี และเมื่อพิจารณาตามอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณปีละ 3 % ทำให้ในปีที่ 30 ต้นทุนอัตราค่าน้ำที่ กปภ. ซื้อจะอยู่ที่ลบ.ม.ละประมาณ 50 บาท ในขณะที่ กปภ. ยังคงขายน้ำให้แก่ประชาชนในราคาไม่สะท้อนต้นทุน ดังนั้น ผลประกอบการทั้งหมดของโครงการรวม 30 ปี กปภ. จึงขาดทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
นายวิเศษ ชำนาญวงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กปภ. มีเจตนารมย์ชัดเจนที่ต้องการช่วยเหลือส่วนรวม และได้ดำเนินการอย่างถูกต้องโดยกระบวนการต่างๆ มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กปภ. จึงตัดสินใจดำเนินการเพื่อส่วนรวม หากแต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางด้านการคืนสภาพสิ่งแวดล้อม การป้องกันมิให้ประชาชนได้รับความเสียหายและเดือดร้อนแล้วถือว่าคุ้มค่ามาก เนื่องจากสามารถบริการน้ำประปาผิวดินให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทดแทนการใช้น้ำบาดาลทันสถานการณ์ อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีแผ่นดินทรุดไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท โดยที่ผลการดำเนินงานของ กปภ. ในภาพรวมทั่วประเทศ ในระยะเวลา 30 ปี กปภ. ก็ไม่ประสบปัญหาการขาดทุนแต่อย่างไร โดย กปภ. จะยังคงมีกำไรประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กปภ. ได้วิเคราะห์สถานการณ์แล้วว่า โครงการนี้เป็นความจำเป็นระดับชาติ ทั้งนี้ 5 ปีที่ผ่านมา ก็ถือว่า กปภ. ประสบความสำเร็จในการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์แผ่นดินทรุด และได้ช่วยเหลือสังคมให้รอดพ้นจากผลกระทบต่างๆ