แก้ปัญหาขาดน้ำชลบุรี กปภ.ย้ำดำเนินการเองทั้งหมด

03 กรกฎาคม 2551


แก้ปัญหาขาดน้ำชลบุรี กปภ.ย้ำดำเนินการเองทั้งหมด

    การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดสรรงบประมาณกว่า 145 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่ จ.ชลบุรี อย่างเร่งด่วน เผยเตรียมกู้พันธบัตรอีก 2,200 ล้าน สำหรับแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กปภ.จะดำเนินการเองทั้งหมด

    นายชวลิต สารันต์ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ.ชลบุรี ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชน ส่งผลให้ปริมาณน้ำประปาที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน ที่ผ่านมา กปภ. ได้พยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ลูกค้าและประชาชน แต่ก็ยังไม่ทันกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คณะกรรมการ กปภ.ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นประธานกรรมการ จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพปัญหาเมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2551 และมีมติอนุมัติให้สำนักงานประปาชลบุรีเร่งผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นวันละ 24,000 ลบ.ม. เพื่อส่งจ่ายให้แก่ลูกค้าประชาชน และ ได้จัดสรรงบประมาณ 31.47 ล้านบาท สำหรับลงทุนวางท่อจ่ายน้ำและก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำบางทราย (บริเวณวิทยาลัยพละศึกษาชลบุรี) เพื่อรองรับการส่งจ่ายน้ำประปาที่ผลิตเพิ่มขึ้นไปยังครัวเรือนต่างๆ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลในพื้นที่เทศบาลตำบลคลองตำหรุ, หนองไม้แดง, บางทราย, ดอนหัวฬ่อ และนาป่าได้

    นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรงบประมาณ 37.24 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างปรับปรุงระบบผลิตน้ำของโรงกรองน้ำบางพระ 1 จากเดิมที่มีกำลังผลิต 72,000 ลบ.ม./วัน ให้เพิ่มขึ้นเป็น 84,000 ลบ.ม./วัน และจัดสรรงบประมาณอีก 76.60 ล้านบาท สำหรับวางท่อจ่ายน้ำจากโรงกรองน้ำบางพระ 1 ไปยังสถานีจ่ายน้ำบางแสน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำประปาขาดแคลนบริเวณเทศบาลเมืองแสนสุข และเทศบาลตำบลอ่างศิลา ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหา น้ำประปาไหลอ่อนหรือไม่ไหลในพื้นที่ชุมชนเขาน้อยทั้งหมด

    นายชวลิต สารันต์ เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำประปาของชาวชลบุรีเป็นไปอย่างยั่งยืน คณะกรรมการ กปภ.ยังมีมติให้ กปภ. กู้เงินพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 2,200 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงระบบผลิตน้ำประปาของสำนักงานประปาชลบุรี สำนักงานประปาแหลมฉบัง และสำนักงานประปาพัทยา ให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีกวันละ 48,000 ลบ.ม. 60,000 ลบ.ม. และ 84,000 ลบ.ม ตามลำดับ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยให้ กปภ. มีกำลังผลิตมากเพียงพอสำหรับส่งจ่ายให้บริการแก่ลูกค้าประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงไปจนถึงปี 2560 ทั้งนี้ กปภ. จะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยไม่มีการปรับค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น

 
เลื่อนขึ้นข้างบน