กปภ. คุมเข้มคุณภาพน้ำประปาป้องกันเชื้ออหิวาต์

14 พฤศจิกายน 2550


กปภ. คุมเข้มคุณภาพน้ำประปาป้องกันเชื้ออหิวาต์

    การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ควบคุมปริมาณคลอรีนเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาในเส้นท่อ เพื่อป้องกันเชื้ออหิวาตกโรคระบาดในพื้นที่ให้บริการ ยืนยันมาตรฐานความสะอาดส่งตรงถึงก๊อก พร้อมเตือนลูกค้าที่เก็บกักน้ำประปาทิ้งไว้ควรต้มก่อนบริโภค เพราะคลอรีนระเหยออกจากน้ำประปาไปแล้ว                                                                                                                                                                                 นายชวลิต สารันต์ ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมอนามัยเกี่ยวกับสถานการณ์อหิวาตกโรคของประเทศไทยในปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะแพร่ระบาดไปในหลายจังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น  สุราษฎร์ธานี ระนอง สงขลา ลำพูน ตาก นครสวรรค์ และจันทบุรี นั้น กปภ.ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในชุมชนเมือง 73 จังหวัดทั่วภูมิภาคของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพน้ำประปาที่ส่งให้บริการแก่ลูกค้า จึงได้วางมาตรการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาเป็นกรณีพิเศษเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้า โดยให้สำนักงานประปาเขตและสำนักงานประปาทุกแห่งควบคุมปริมาณสารคลอรีนในระหว่างกระบวนการผลิตน้ำประปาเพื่อฆ่าเชื้อโรคจากปกติที่ให้มีคลอรีนคงค้างที่ปลายเส้นท่ออยู่ระหว่าง 0.2 - 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร สำหรับในช่วงเวลาและพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว กปภ.กำหนดให้มีคลอรีนคงค้างที่ปลายเส้นท่อ 1.0 มิลลิกรัม/ลิตร                 ทั้งนี้ ปริมาณสารคลอรีนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้น้ำประปามีกลิ่นคลอรีน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใกล้สถานีผลิตและจ่ายน้ำ แต่ขอให้ลูกค้ามั่นใจว่าปริมาณคลอรีนที่ผสมอยู่ในน้ำประปานั้น อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด และยังแสดงถึงความปลอดภัยว่าน้ำประปาที่ส่งมาถึงบ้านลูกค้าปราศจากเชื้อโรคแน่นอน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือทำให้เจ็บป่วยเมื่อดื่มน้ำประปา                                                                                                         อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าไม่คุ้นเคยกับกลิ่นคลอรีน อาจนำน้ำประปาใส่ภาชนะที่สะอาดตั้งทิ้งไว้กลิ่นคลอรีนก็จะระเหยไป แต่สำหรับในช่วงเวลาและพื้นที่ที่มีโรคระบาดขอแนะนำว่าหากลูกค้าต้องการบริโภคน้ำประปาที่เก็บกักไว้ใช้  ก็ควรจะต้มน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคอีกครั้งก่อนนำมาบริโภค เพราะคลอรีนที่คอยฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้ระเหยไปหมดแล้ว น้ำประปาที่เก็บไว้ใช้อาจถูกปนเปื้อนเชื้อโรคในภายหลังได้

 
เลื่อนขึ้นข้างบน