09 มีนาคม 2550
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2550 คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เดินทางไปตรวจความพร้อมของระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล (ระบบ R.O.) ที่เกาะสมุยและเกาะพะงัน มั่นใจแล้งนี้ นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่จะไม่ได้รับผลกระทบ พร้อมประชุมหารือมาตรการรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายระบบประปาไปสู่พื้นที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียง
นายสุรอรรถ ทองนิรมล ประธานคณะกรรมการ กปภ. เปิดเผยว่า พื้นที่เกาะสมุยและเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มักประสบภัยแล้งรุนแรงทุกปี เนื่องจากปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปามีจำกัด กปภ.จึงได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยว่าจ้างบริษัทเอกชนติดตั้งระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล (ระบบ R.O.) ที่เกาะสมุย ตั้งแต่ปี 2548 ผลปรากฎว่า สถานการณ์การขาดแคลนน้ำคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และจากการตรวจความพร้อมล่าสุด เชื่อมั่นว่า ในปี 2550 นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เกาะสมุย จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชุมชนบนเกาะสมุยมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับโครงการขุดสระน้ำดิบเพิ่มเติมของ กปภ.ที่อ่างเก็บน้ำพรุกระจูด และพรุหน้าเมืองต้องล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาการจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ ตลอดจนแผนการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำของกรมชลประทานที่น้ำตกหินลาด ยังต้องใช้เวลาศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี กปภ.จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนผลิตน้ำประปาจากทะเล (ระบบ R.O.) เพิ่ม โดยคณะกรรมการ กปภ.ได้ประชุมหารือถึงความเป็นไปได้ที่ กปภ.จะเข้าไปดำเนินการเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต
สำหรับพื้นที่เกาะพะงัน กปภ.ได้เตรียมโครงการมูลค่า 176 ล้านบาท เพื่อขยายระบบประปารวม 3 จุด ได้แก่ (1) เพิ่มกำลังผลิตของสถานีผลิตน้ำเขาชักธงจากเดิม 1,200 ลบ.ม.ต่อวัน เป็น 2,400 ลบ.ม.ต่อวัน (2) สร้างระบบผลิตน้ำใหม่ที่บริเวณบ้านบางน้ำเค็มขนาด 1,200 ลบ.ม.ต่อวัน และ (3) ปรับปรุงระบบผลิตน้ำขนาด 1,200 ลบ.ม.ต่อวันที่น้ำตกวังทอง ซึ่งเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,050 ลบ.ม.ต่อวัน คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ไปอีก 5 - 10 ปี
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กปภ.ยังได้หารือกันถึงแผนในอนาคตที่จะมีการขยายระบบประปาไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง อาทิ เกาะพีพี จ.กระบี่ และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการเสนอของบประมาณกลางจากรัฐบาล ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการสนับสนุน เนื่องจากเป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานด้านสาธารณูปโภคแก่พื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อประเทศ