รมช.มท. เผย กปภ. เตรียมแผนระยะยาวแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนบนเกาะสมุย

19 สิงหาคม 2548


รมช.มท. เผย กปภ. เตรียมแผนระยะยาวแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนบนเกาะสมุย

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสมชาย สุนทรวัฒน์) เผยภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล หรือ R.O. บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมแผนระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนบนเกาะสมุย โดยคาดว่าในปี 2553 อาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอีกครั้ง

    นายสมชาย สุนทรวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่สาธารณชนได้รับทราบกันเป็นประจำทุกปีว่า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เช่น เกาะสมุย ภูเก็ต พัทยา ระยอง ฯลฯ มักมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา เนื่องจากปัจจุบันฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือตกน้อยลงมาก ซึ่ง กปภ. เองก็ได้มีการคาดการณ์และเตรียมการล่วงหน้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะสมุย เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาพักผ่อนเป็นช่วงเวลายาวนาน โดยล่าสุดในหน้าแล้งที่ผ่านมาพื้นที่เกาะสมุยก็สามารถฝ่าวิกฤตขาดแคลนน้ำดิบไปได้ เพราะ กปภ. ได้เตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดี โดยตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2548 กปภ. ได้ผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยกระบวนการทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด แล้วเสริมเข้าไปในระบบจ่ายน้ำ ทำให้สามารถบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดภาวะวิกฤตเช่นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ตามข่าว ทั้งนี้ การผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลครั้งนี้ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้ชาวเกาะสมุยมีความสบายใจไปจนถึงปี 2553

    ดังนั้น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำดิบอีกครั้งในปี 2553 จึงได้มอบหมายให้ กปภ. พิจารณาวางแนวทางดำเนินการไว้ล่วงหน้า ซึ่งมี 3 ทางเลือกคือ  (1.) การวางท่อส่งน้ำประปาจาก จ.สุราษฎร์ธานี (แม่น้ำตาปี) ไปยังเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 159 ก.ม. (2.) การพัฒนาอ่างเก็บน้ำบนเกาะสมุยร่วมกับการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล และ (3.) การก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล เพิ่มขึ้นจากเดิมให้เพียงพอ ซึ่งเมื่อ กปภ. ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำมาพิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสมและยั่งยืนที่สุดต่อไป

    สำหรับภาระต้นทุนค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นจากการรับซื้อน้ำประปาระบบ R.O. ซึ่ง กปภ. แบกรับไว้อยู่ในขณะนี้นั้น จะได้มีการพิจารณาปรับอัตราค่าน้ำเฉพาะพื้นที่เกาะสมุยอีกครั้ง โดยแนวทางในการปรับค่าน้ำนั้นจะไม่มีการปรับค่าน้ำในกลุ่มที่อยู่อาศัย ส่วนในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ/โรงแรมจะมีการปรับขึ้นบ้างตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม น้ำ R.O. ที่ใช้แก้ปัญหานี้ มีปริมาณเพียง 1 ใน 7 ส่วนของปริมาณน้ำทั้งหมดที่ต้องการใช้เท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับราคามากนัก ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับความสะดวกสบายของการได้ใช้น้ำสะอาดที่ได้รับ และการคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเมื่อเทียบกับราคาซื้อขายน้ำดิบในช่วงภาวะฝนแล้งที่ผู้ประกอบการในเกาะสมุย และพัทยา ต้องซื้อจากภาคเอกชน คือ ประมาณ 150 - 200 บาท/ลบ.ม. แล้วนั้น อัตราค่าน้ำที่มีการปรับขึ้นใหม่มีราคาถูกกว่าน้ำซื้อจากเอกชนอย่างแน่นอน

 
เลื่อนขึ้นข้างบน