18 มีนาคม 2548

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เผยเกาะสมุยเข้าขั้นวิกฤติเนื่องจากแหล่งน้ำดิบบนเกาะเหลือปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาได้อีกเพียง 50 วัน ต้องเร่งติดตั้งระบบน้ำ R.O. เพื่อรุดแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีเพื่อรักษาภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง
นายชวลิต สารันต์ รองผู้ว่าการภาค 5 กปภ. เปิดเผยว่า จากการที่พื้นที่ท่องเที่ยว อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงขึ้นทุกปี ซึ่งแม้ว่า กปภ. จะจัดสรรงบประมาณไปปรับปรุงขยายแหล่งเก็บน้ำดิบสำรองให้แก่สำนักงานประปาสมุยถึง 2 แห่ง เพื่อให้มีความจุเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น คือ อ่างเก็บน้ำพรุหน้าเมือง จากเดิม 480,000 ลบ.ม. เป็น 780,000 ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำพรุกระจูด จากเดิม 250,000 ลบ.ม. เป็น 350,000 ลบ.ม.แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้สำนักงานประปาเกาะสมุยมีน้ำดิบสำรองไว้ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาในช่วงหน้าแล้งนี้ได้ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆมา
และถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีฝนตกในพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำสำรองข้างต้นได้มากนัก โดยปริมาณน้ำสำรองที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถรองรับการผลิตน้ำประปาได้อีกเพียง 50 วันเท่านั้น จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการจ่ายน้ำเป็นเวลาหรือหยุดจ่ายน้ำ ซึ่งขณะนี้ถือว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติแล้ว เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าปกติ ประกอบกับอากาศที่ร้อนมาก ทำให้น้ำดิบลดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติด้วย
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานประปาเกาะสมุยได้เร่งรัดบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ให้ดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล (ระบบ R.O.) ขนาดกำลังผลิต 2,500 ลบ.ม./วัน ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนเมษายน 2548 เพื่อเชื่อมต่อระบบให้สำนักงานประปาเกาะสมุยมีน้ำประปาจ่ายบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะสมุยได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเพื่อมิให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำสำรองมีน้อยลงอย่างต่อเนื่องจนผิดปกติ สำนักงานประปาเกาะสมุยจึงใคร่วิงวอนประชาชนในพื้นที่เกาะสมุย และพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และอนุรักษ์แหล่งน้ำด้วยการไม่ทำลายต้นไม้และทิ้งของเสียลงในแหล่งน้ำ รวมทั้งเตรียมภาชนะสำรองเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย
สำหรับแผนระยะยาวในอนาคตเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลิปะใหญ่ให้เป็นแหล่งน้ำอีกแห่งสำหรับชาวเกาะสมุยนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวนเขตต้นน้ำชั้น 1A คณะรัฐมนตรีจึงได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป่าไม้ และการประปาส่วนภูมิภาค ร่วมกันศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ อาทิ การระบายตะกอนของอ่างเก็บน้ำ มาตรการป้องกันปัญหาโรคภัยในระหว่างก่อสร้าง มาตรการป้องกันมลพิษทางน้ำ มาตรการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ตลอดจนมาตรการประชาสัมพันธ์ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง