น้ำประปาดื่มได้ที่ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร

08 กันยายน 2547


น้ำประปาดื่มได้ที่ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร

        วันนี้ (8 กันยายน 2547) กปภ. ร่วมกับกรมอนามัย และเทศบาลเมืองตะพานหิน จ.พิจิตร จัดพิธีประกาศให้พื้นที่ในเขต อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร เป็นพื้นที่ให้บริการน้ำประปาดื่มได้แห่งที่ 57 เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน

        ดร.ประเสริฐ เชื้อพานิช รองผู้ว่าการภาค 1 รักษาการแทนผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า โครงการน้ำประปาดื่มได้เป็นโครงการตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง กปภ.ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานน้ำดื่ม

        สำนักงานประปาตะพานหินจ่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ผ่านระบบท่อประปาที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นใจในมาตรฐานคุณภาพน้ำประปา ทั้งนี้ กปภ.ได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเทศบาลเมืองตะพานหิน จ.พิจิตร ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปาที่จ่ายไปสู่ประชาชน โดยมุ่งเน้นการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาให้มีมาตรฐานความสะอาดปลอดภัย สามารถดื่มน้ำประปาได้จากก๊อกโดยตรง อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนหันมาดื่มน้ำประปา และเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

        ทั้งนี้ พิธีประกาศพื้นที่ให้บริการน้ำประปาดื่มได้ของสำนักงานประปาตะพานหินจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2547 ณ สวนสุขภาพชานเขื่อนแม่น้ำน่าน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร โดยได้ติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มฟรีไว้ให้บริการแก่ประชาชนรวมทั้งสิ้น 5 จุด ได้แก่ บริเวณสวนสุขภาพชานเขื่อนริมแม่น้ำน่าน, สถานีรถไฟตะพานหิน, ห้องประชุมศาลามหาดไทย 100 ปี, รร.เทศบาล 1 และ รร.เทศบาล 2 อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร

        ดร.ประเสริฐ เชื้อพานิช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประชาชนสามารถดื่มน้ำได้จากก๊อกน้ำสาธารณะ 5 จุดข้างต้นแล้ว หากลูกค้าผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่บริการของสำนักงานประปาเลยมีการดูแลปรับปรุงระบบท่อภายในบ้านให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอก็จะสามารถดื่มน้ำประปาได้โดยตรงจากก๊อกภายในบ้าน ทั้งนี้ การบริโภคน้ำประปาที่ได้รับการรับรองจากกรมอนามัยว่าสะอาดและปลอดภัย นอกจากจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีราคาค่อนข้างแพง และช่วยลดปัญหาขยะขวดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคที่เกิดจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด โดย กปภ.มีเป้าหมายที่จะขยายโครงการเพิ่มเติมออกไปยังพื้นที่บริการอื่น ๆ อีก จนกว่าจะครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ.

 
เลื่อนขึ้นข้างบน