23 มิถุนายน 2547
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยสำนักงานประปาเขต 4 สุราษฎร์ธานี และสำนักงานประปาปากพนัง จัดพิธีรับมอบงานพัฒนาขุดลอกสระเก็บน้ำดิบบ้านตรงจากกรมชลประทาน ในวันที่ 26 มิถุนายน 2547 เวลา 9.30 น. ณ สระเก็บน้ำดิบบ้านตรง ต.คลองกระบือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี ฯพณฯ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินการก่อสร้างพระตำหนักประทับแรมอำเภอปากพนัง เป็นประธานในพิธี
ดร.ประเสริฐ เชื้อพานิช รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากน้ำดิบในแม่น้ำปากพนังมีค่าคลอไรด์สูงจนทำให้เกิดภาวะน้ำเค็มเป็นประจำทุกปี กปภ. จึงได้แก้ปัญหาโดยการซื้อที่ดิน 370 ไร่ ที่บ้านตรง ต.คลองกระบือ อ.ปากพนัง เพื่อขุดสระปริมาณความจุ 1 ล้านลบ.ม. สำหรับกักเก็บน้ำดิบที่เป็นน้ำจืดไว้สำรองใช้ในหน้าแล้ง แต่ก็ยังมีปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงจำเป็นต้องขยายสระเพื่อกักเก็บน้ำจืดมากขึ้น
ดังนั้น ฯพณฯ นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินการก่อสร้างพระตำหนักประทับแรมอำเภอปากพนัง จึงได้เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากพระตำหนักประทับแรมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ให้บริการของสำนักงานประปาปากพนัง ในการนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนจำนวน 10 ล้านบาท และให้กรมชลประทานเข้าไปดำเนินการพัฒนาขุดลอกสระเก็บน้ำบ้านตรง เพื่อให้มีปริมาณความจุของน้ำในสระเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านลบ.ม. โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2546 ปัจจุบันกรมชลประทานทำการขุดลอกแล้วเสร็จและจะทำพิธีส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่ กปภ. ในวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2547 เวลา 09.30 น. ณ สระเก็บน้ำดิบบ้านตรง ต.คลองกระบือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี ฯพณฯ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้จะมีการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอันเนื่องมาจากกระแสพระราชดำริ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้จัดมาเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินบริเวณรอบสระเก็บน้ำดิบฯ ด้วย
ดร.ประเสริฐฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจาก ฯพณฯ บรรหาร จะได้ผลักดันโครงการขุดลอกสระเก็บน้ำดิบบ้านตรงแล้ว ยังได้ช่วยผลักดันให้ กปภ. ได้รับงบประมาณในปี 2547 อีกจำนวน 107 ล้านบาท สำหรับนำมาใช้ก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาปากพนัง เพื่อให้สามารถผลิตจ่ายน้ำประปาได้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้น้ำ โดยจะเพิ่มกำลังผลิตจากเดิม 7920 ลบ.ม./วัน เป็น 15,600 ลบ.ม./วัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2548.