กปภ. - ปภ. ลงนาม MOU บูรณาการแก้ปัญหาภัยแล้ง ต่อเนื่องปีที่ 3

27 มีนาคม 2567


กปภ. - ปภ. ลงนาม MOU  บูรณาการแก้ปัญหาภัยแล้ง ต่อเนื่องปีที่ 3

 

               การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยนายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. ร่วมลงนาม MOU บูรณาการแก้ปัญหาภัยแล้ง เตรียมสำรองน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชน ในวันที่ 27มีนาคม 2567ณ กปภ. สำนักงานใหญ่ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 

                นายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ.เปิดเผยว่า กปภ. มุ่งมั่นให้บริการน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กปภ. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ กปภ.สาขา 234สาขาอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อเตรียมความพร้อมจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำรองไว้สำหรับการผลิตน้ำสะอาด แก้ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศโดยใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน ทั้งนี้ กปภ. พร้อมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ ปภ. เข้าปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของ กปภ.สาขาทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้มีน้ำสะอาดใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง สำหรับความร่วมมือของ กปภ. กับ ปภ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565มีผลผูกพันเป็นเวลา 1ปี และได้ขยายระยะเวลาความร่วมมือจนถึงปัจจุบันต่อเนื่องเป็นปีที่ 3โดยจัดพิธีลงนามฯ ในวันที่ 27มีนาคม 2567 ณ กปภ. สำนักงานใหญ่ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ กปภ. ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เตรียมพร้อมสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อรองรับหากเกิดภัยแล้งในพื้นที่หรือเกิดเหตุฉุกเฉินน้ำประปาไม่ไหล ตลอดจนหมั่นตรวจสอบระบบท่อและอุปกรณ์ประปาภายในบ้าน ไม่ให้มีจุดแตกรั่วซึ่งเป็นสาเหตุค่าน้ำประปาสูงผิดปกติและเป็นการสูญเสียทรัพยากรน้ำไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ หากพบเห็นท่อประปาแตกรั่ว สามารถแจ้ง กปภ.สาขาในพื้นที่ หรือ PWA Contact Center 1662 ตลอด 24 ชั่วโมง

                 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า ภัยแล้ง เป็นภัยธรรมชาติที่สำคัญที่ก่อเกิดความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการความเสียงสาธารณภัยที่ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันและลดผลกระทบและมาตรการเตรียมความพร้อม ปภ. ในฐานะหน่วยงานกลางในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงด้านการจัดการความเสี่ยง ในการขับเคลื่อนมาตรการให้บรรลุเป้าหมายแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน จึงต้องบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานเป็นหุ้นส่วนการจัดการความเสี่ยงร่วมกัน โดยได้ประสานความร่วมมือกับ กปภ. จัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดหาน้ำต้นทุนและเพิ่มน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อการผลิตน้ำอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำต้นทุน และสามารถจัดหาน้ำสะอาดให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน บนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวเพื่อไปสู่เป้าหมาย "การรู้รับ - ปรับตัว - ฟื้นเร็วทั่ว - อย่างยั่งยืน" โดย ปภ. พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัย วัสดุ อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ ตามที่ กปภ. ประสานการดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้ง

 
เลื่อนขึ้นข้างบน